โบราณวัตถุที่ทำด้วยดินเผา นับเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญในการศึกษาแหล่งโบราณคดีและเมืองโบราณในประเทศไทยเพื่อให้ทราบถึงวิถีชีวิตและ พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนในอดีต ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จึงได้จัดทำ “พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่ทำในประเทศไทย” เพื่อนำเสนอให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจถึงพัฒนาการของเครื่องปั้นดินเผา ที่ปรับเปลี่ยนไปตามรูปแบบวัฒนธรรมเจริญขึ้น
และตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น โดยในระยะแรกที่ยังไม่รู้จักเทคโนโลยีการควบคุมความร้อน คือ ยังไม่รู้จักสร้างเตาเผานั้น เครื่องปั้นดินเผาทั้งหมด ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยทวารวดี ล้วนแล้วแต่เป็น “เครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อดิน” (Earthenware) ทั้งสิ้น ซึ่งผลิตโดยการสุ่มไฟกลางแจ้งฉะนั้นอุณภูมิที่ได้จึงไม่สูงมากนัก คือไม่เกิน ๑,๑๐๐ องศาเซสเซียสต่อมา ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เมื่อชุมชนโบราณรับเทคโนโลยีการเผาเครื่องปั้นดินเผาในเตา และรู้จักการใช้ส่วนผสม คือ ดินเหนียวดินขาว (Kaolin) และหินฟันม้า (Feldspar) ทำให้สามารถผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีเนื้อแข็งแกร่งเหมือนหินได้ ซึ่งเรียกเครื่องปั้นดินเผาแบบนี้ว่า “เครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อหิน” (Stoneware) ที่รู้จักกันดี เช่น เครื่องถ้วยเขมรจากแหล่งเตาในจังหวัดบุรีรัมย์ (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘) เครื่องสังคโลก จากแหล่งเตาในเมืองเก่าสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๑) เครื่องถ้วยล้านนา จากกลุ่มเตาล้านนา (พุทธศตวรรษที่๑๙ – ๒๒) และไหเคลือบสีน้ำตาล จากแหล่งเตาลุ่มแม่น้ำสงคราม (พุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒)
เครื่องปั้นดินเผาที่จัดแสดงนี้ อาจจำแนกออกตาม “หน้าที่” ได้เป็น ๖ กลุ่มคือ
๑. ภาชนะดินเผา (Pottery) แบ่งได้ตามรูปแบบภาชนะ ได้แก่ หม้อ ไห อ่าง ครก กระปุก เต้าปูน ตลับ แจกัน หรือ ขวดไม่มีหู ขวดมีหู หม้อน้ำมีพวยและไม่มีพวย หวด ฝา จาน ชาม พาน กระโถน ตะคัน และ ตะเกียง เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกันคือ
๑.๑ ภาชนะดินเผาที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ได้แก่ภาชนะดินเผาที่ทำขึ้นมาเพื่อเป็นของอุทิศให้แก่ผู้ตาย โดยการวางภาชนะดินผาประเภทหม้อ จาน ชาม หรือ ถ้วยมีเชิง ไว้ที่เหนือศีรษะ ลำตัว หรือปลายเท้าของผู้ตาย แล้วจึงฝังกลบ พิธีกรรมเช่นนี้เป็นที่นิยมมากในสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือ ในสังคมสมัยทวารวดี ซึ่งรับอิทธิพลทางศาสนาจากอินเดียนั้น ก็นิยมใช้ภาชนะมีพวยชนิดคอสูง และหม้อน้ำทรงน้ำเต้าคอสูงปากแคบคล้ายขวดแต่ไม่มีพวย เป็นอุปกรณ์ใส่น้ำสำหรับประกอบพิธีหลั่งน้ำลงดิน หรือ เสาเอกก่อนทำการก่อสร้างเพื่อเป็นสิริมงคล หรือ ใช้ในพิธีกรวดน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ ภาชนะดินเผาประเภทไหที่ใช้ในกิจพิธีทางศาสนา จะมีการตกแต่งงดงามเป็นพิเศษ โดยเฉพาะไหที่ตกแต่งด้วยลายประทับรอบบ่าและลำตัวเป็นรูปดอกไม้ สัตว์และรูปบุคคลในอิริยาบถต่างๆ หรือ ตะคันมีรูปทรงและขนาดต่างๆ กัน หรือ ตะเกียงดินเผา เป็นต้น
๑.๒ ภาชนะดินเผาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ภาชนะดินเผาในกลุ่มนี้ โดยมากแล้วจะเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น เป็นภาชนะสำหรับใส่น้ำ และ ภาชนะสำหรับหุงอาหาร ซึ่งได้แก่ ชาม อ่าง หม้อ ไห เป็นต้น
发表回复